กระดูกพรุนและข้อเสื่อมเหมือนหรือต่างกัน?

หลายคน คงสังสัยโรคกระดูกพรุน กับโรคข้อเสื่อม เหมือนหรือต่างกันอย่างไร เรามาดูกันค่ะ

กระดูกพรุน หรือบางคนอาจจะบอกว่าเรียกว่ากระดูกเสื่อม กลุ่มนี้คือการที่ตัวเนื้อกระดูกบางลง มีรูพรุนเพิ่มขึ้น ทำให้มวลเนื้อกระดูกลดลง  กลุ่มนี้จะทำให้กระดูกเปราะ แตกหักง่าย ที่ตำแหน่งกระดูกสันหลังจะทำให้กระดูกสันหลังยุบตัว ซึ่งอาจทำให้มีอาการเจ็บปวด และหลังโก่งงอมากขึ้นได้ ถ้าหากเกิดกับตำแหน่งกระดูกอื่นๆ ที่พบบ่อยคือ กระดูกข้อมือ กระดูกสะโพก-ต้นขา ก็จะทำให้กระดูกเหล่านี้เปราะบาง และหักง่ายขึ้น เวลาเราล้มหรือเกิดอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรงมาก ก็อาจจะทำให้เกิดกระดูกหักขึ้นได้

ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มที่เรียกว่า ข้อเสื่อม โรคข้อเสื่อมนี้เกิดขึ้นได้กับทุกๆข้อกับร่างกาย ส่วนใหญ่จะพบมากในข้อใหญ่ๆ และข้อที่รองรับน้ำหนักตัว เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพกหรือข้อเท้า คนไทยเองส่วนมากเกิดในข้อเข่าเยอะที่สุดนะครับ โรคข้อเสื่อมจริงๆเกิดจากการที่ข้อต่อต้องเคลื่อนไหวและรับน้ำหนักต่อเนื่องสะสมกันมาเป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดการสึกหรอของกระดูกอ่อนผิวข้อ  เกิดเป็นความขรุขระ ไม่เรียบของผิวกระดูกอ่อน  ทำให้เกิดอาการอักเสบ บวม แดง ร้อน เกิดอาการเจ็บข้อ และเคลื่อนไหวติดขัด ตามระดับความรุนแรงของโรคครับ

โรคที่เป็นเยอะคือ ข้อเข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis) เกิดจากกระดูกอ่อนของข้อเข่า หรือผิวข้อสึกกร่อน เมื่อไม่มีผิวกระดูกอ่อนมาห่อหุ้ม เนื้อกระดูกที่มาชนกันขณะรับน้ำหนักจึงทำให้เกิดอาการเจ็บปวด ถ้าเกิดอาการเรื้อรังกระดูกจะมีการซ่อมแซมตัวเองจนเกิดเป็นกระดูกงอกขรุขระขึ้นภายในข้อ ก็จะทำให้การเคลื่อนไหวติดขัด และมีเสียงดัง

ในผู้ป่วยที่มีอาการมากแล้วจะมีแนวแกนขาผิดปกติ ขาอาจโก่งเข้าด้านในหรือบิดออกนอก และทำให้การรับน้ำหนักของข้อเข่าผิดปกติ

อาการแบบไหน สงสัยข้อเข่าเสื่อม

  • ปวดมากเมื่อคุกเข่า นั่งพับเพียบ ลุกนั่ง ขึ้นลงบันได และอาการจะดีขึ้นเมื่อหยุดพัก
  • เมื่อขยับข้อรู้สึกถึงการเสียดสี หรือมีเสียงในเข่าขณะเคลื่อนไหว
  • มีอาการฝืดขัดข้อเข่า โดยเฉพาะตอนเช้าและเมื่อหยุดเคลื่อนไหวเป็นเวลานาน
  • ข้อเข่าติด เหยียดหรืองอเข่าได้ไม่สุด
  • เข่าบวมแดงหรือโต มีน้ำภายในข้อจากการอักเสบ
  • กล้ามเนื้อขาลีบเล็กลงกว่าข้างปกติ
  • เมื่อข้อเข่าเสื่อมมากขึ้นและเรื้อรัง จะพบข้อเข่าโก่ง หลวมหรือเบี้ยวผิดรูป

ใครบ้าง มีความเสี่ยงเป็นข้อเข่าเสื่อม

  • อายุมากขึ้น มักพบในคนอายุ 40 ปีขึ้นไป
  • พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
  • น้ำหนักตัวมาก ดัชนีมวลกาย BMI มากกว่า 23
  • ใช้ข้อเข่ามาก โดยเฉพาะการนั่งยองๆ พับเพียบ คุกเข่า
  • เคยได้รับบาดเจ็บที่เข่า
  • กล้ามเนื้อต้นขาไม่แข็งแรง
  • เกิดจากโรคข้ออักเสบชนิดอื่น ๆ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เกาต์

โดยสรุป ต้องแยกโรคกระดูกพรุนและข้อเสื่อมจากกัน เนื่องจากวิธีการดูแลรักษาแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ถ้าเป็นโรคกระดูกพรุน ก็ต้องให้การรักษาโดยการเสริมแคลเซียมร่วมกับให้ยาลดการละลายตัวของเนื้อกระดูก แต่หากเป็นโรคข้อเสื่อม ก็ต้องให้การรักษาตามระยะความรุนแรงของโรค ตั้งแต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การรับประทานยา ฉีดยาเข้าข้อเข่า ไปจนถึงการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *